Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1015
Title: นวัตกรรมน้ำมันปลาจากปลาหนังลูกผสมน้ำจืดในมนุษย์ที่มีความเสี่ยง ต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม
Other Titles: Innovative fish oil from freshwater hybrid catfish on metabolic syndrome risk in human
Authors: บุษรินทร์ ทองมี
Issue Date: 2021
Publisher: Maejo University
Abstract: เมตาบอลิกซินโดรมเป็นกลุ่มโรคที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงโดยตรงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีรายงานการศึกษาพบว่า อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต สามารถป้องกันภาวะเมตาบอลิกซินโดรมและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของน้ำมันปลาจากปลาหนังลูกผสมน้ำจืด (Freshwater fish oil: FFO) และน้ำมันปลาจากปลาบึกสยาม (Buk Siam fish oil: BFO) ทดสอบฤทธิ์ชีวภาพในการต้านการอักเสบและการต้านจุลชีพ และการศึกษาผลของ FFO ที่มีต่อองค์ประกอบของภาวะเมตาบอลิกซินโดรมในอาสาสมัครที่มีภาวะเสี่ยง ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันปลาน้ำจืดทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองที่อุณหภูมิห้อง มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัว (SFA) ไม่แตกต่างกัน แต่มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยทั้ง FFO และ BFO มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิดโอเมก้า 6 สูง ในขณะที่น้ำมันปลาทะเล (Marine fish oil: MFO) นั้นจะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ปริมาณสูง ซี่งทั้ง FFO, BFO และ MFO พบปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว โอเมก้า 9 เท่ากับ 43.35, 46.69 และ 11.24 กรัมต่อ 100 กรัมตามลำดับ จะเห็นได้ว่าน้ำมันปลาน้ำจืดทั้งสองชนิดนี้มีค่าโอเมก้า 9 สูงกว่าน้ำมันปลาทะเลถึงสี่เท่า ส่วนค่าสะปอนนิฟิเคชัน (Saponification numbers) และค่าเปอร์ออกไซด์ (peroxide value) ของ FFO และ BFO อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนด และพบการปนเปื้อนโลหะหนักปริมาณที่น้อยมากหรือตรวจ ไม่พบเลย นอกจากนี้ยังพบเชื้อ Escherichia coli และ Salmonella ปริมาณน้อยที่สุดหรือตรวจไม่พบเลย สำหรับฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่า FFO มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งและการแสดงออกของ mRNA ของ cytokines ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ IL-6, IL-1β และ TNF-α และมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกและการหลั่งของสารสื่อกลางการอักเสบ ชนิด cyclooxygenase-2 และ prostaglandin E2 ในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ RAW 264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพพอลิแซกคาไรด์ (lipopolysaccharide) นอกจากนี้ FFO ยังช่วยลดการสร้าง apoptotic body และลดการทำลายของ DNA ในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ RAW 264.7 ได้ ส่วนฤทธิ์ต้านจุลชีพ พบว่า FFO ไม่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคบนผิวหนัง ได้แก่เชื้อ Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis และ Propionibacterium acnes จากการศึกษาฤทธิ์ของ FFO ในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรมจำนวน 33 คน โดยการให้ FFO ขนาด 2 กรัม/วัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครมีระดับ HDL- C และ fasting plasma glucose ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (10.97, 5.42, p < 0.05) แต่อย่างไรก็ตามระดับของ fasting plasma glucose ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนระดับของไขมันในเลือดชนิด LDL-C นั้นพบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (-8.98, p < 0.05) และระดับของ TG มีแนวโน้มลดลง (-1.49, p > 0.05) นอกจากนี้ยังพบว่าอาสาสมัครมีน้ำหนักตัว (-1.731 กก. [71.01, 69.28]) ดัชนีมวลกาย (-0.66 กก./ตร.ม. [26.62, 25.96]) เส้นรอบเอว (-2.87 ซม. [89.62, 86.75]) ความดันโลหิตซิสโตลิค (-4.03 mmHg [130.30, 126.27] ) และความดันโลหิตไดแอสโตลิค (-2.31 mmHg [85.06, 82.75]) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันปลาจากปลาหนังลูกผสมน้ำจืดที่อุดมด้วยกรดไขมัน โอเมก้า 9 มีความปลอดภัยในมนุษย์ และสามารถช่วยลดปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่พบในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรมได้ แสดงให้เห็นศักยภาพที่จะนำมาใช้เพื่อบริโภคและต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหารและยาได้ต่อไป
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1015
Appears in Collections:ENG-Theses

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Bussarin_Tongmee.pdf11.22 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.