Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1037
Title: ความต่อเนื่องของกระบวนการทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนวิจัยท้องถิ่นภาคเหนือ
Other Titles: Continuity of cognitive processes in solving community problems a case study in northern community base research
Authors: ปณิธี บุญสา
Issue Date: 2019
Publisher: Maejo University
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ หนึ่ง เพื่อศึกษากระบวนการทางปัญญาในแก้ไขปัญหาของชุมชนวิจัย สอง เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของกระบวนการทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชุมชนวิจัย และ สาม เพื่อสังเคราะห์รูปแบบความต่อเนื่องของกระบวนการทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชุมชนวิจัย โดยทำการศึกษาชุมชนวิจัยท้องถิ่นในภาคเหนือ คือ บ้านสามขา บ้านโป่งคำ และ องค์กรสงฆ์และภาคประชาชนอำเภอนาหมื่น การกำหนดพื้นที่กรณีศึกษาได้มองความสอดคล้องตามคุณลักษณะของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งทั้งสามชุมชนได้รับโครงการวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขณะเดียวก็เป็นชุมชนที่ผ่านประสบการณ์การแก้ปัญหามาก่อนที่ดำเนินกระบวนการทางปัญญา และมีผลความสำเร็จที่นำไปสู่การต่อยอดในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องหลังดำเนินการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยผู้วิจัยได้ออกแบบระเบียบวิธีวิจัย คือตัวผู้วิจัยเป็นเครื่องมือหลักพร้อมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มนักวิจัยชุมชนทั้งสามชุมชนและจัดสนทนากลุ่มย่อยกับนักวิจัยชุมชน และทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความต่อเนื่อง โดยจัดทำแบบประเมินคุณลักษณะของชุมชนวิจัย และ จัดเวทีเชิงปฏิบัติการประเมินผลความต่อเนื่องร่วมกับนักวิจัยและทีมวิจัยทั้งสามชุมชน โดยเฉพาะคุณลักษณะทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มทีมวิจัยภายในชุมชน ผลของการวิจัยพบว่า หลักปฏิบัติสำคัญในกระบวนการทางปัญญาคือมรรควิธี (โยนิโสมนสิการ) ในฐานะของวิธีการทางปัญญาในการพิจารณาและวิเคราะห์การเข้าถึงอริยสัจสี่และนำไปสู่ไตรสิกขาสามหรือบ่อเกิดสังคมแห่งปัญญา (ปัญญา-ศีล-สมาธิ) โดยมีวิธีคิดแบบอริยสัจจ์และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการพิจารณาความต่อเนื่องของกระบวนการทางปัญญาของแต่ละชุมชน ณ ปัจจุบัน พบว่าเหตุและปัจจัยของการคงอยู่ของกระบวนการทางปัญญาของชุมชนวิจัย ประกอบด้วย ชุมชนบ้านสามขาได้ผ่านประสบการณ์และมีบทเรียนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินก่อนนำมาสู่การใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีปัญหานำการวิจัยคือปัญหาหนี้สินได้ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาได้และมีความต่อเนื่องของรูปธรรมคือครัวเรือนต้นแบบจำนวน 16 ครัวเรือน และมีการปรับโครงสร้างหนี้โดยการบูรณาการกองทุนภายในชุมชนจาก 40 กว่ากองทุนเหลือ 23 ทุน และมีการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยอย่างการพัฒนาเครือข่ายลุ่มน้ำจางภายในตำบล การจัดฐานการเรียนรู้การลดปัญหาหนี้สิน รวมไปถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ในขณะที่ชุมชนบ้านโป่งคำมีปัญหานำการวิจัยโดยนำเอาเรื่องภูมิปัญญาผ้าทอย้อมสีธรรมขชาติเป็นทุนเริ่มต้นในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการสืบสอดกับคนรุ่นใหม่ส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องทั้งการบริหารจัดการกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ณ ปัจจุบันพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งคำ และการบริหารจัดการกองทุนภายในชุมชน เช่นเดียวกับเครือข่ายองค์กรสงฆ์อำเภอนาหมื่น ที่มีความต่อเนื่องในการลดค่าใช้จ่ายในการปรับรูปแบบพิธีกรรมโดยเฉพาะงานอวมงคล(งานศพ) และพัฒนาเป็นข้อตกลงร่วมในระดับอำเภอ ผลที่เกิดขึ้นทั้งสามชุมชนเป็นผลมาจากการสร้างความรู้และพัฒนากระบวนการในการจัดการความรู้ ที่มีขั้นตอนสำคัญทั้งการพิจารณา แยกแยะ วิเคราะห์ พิสูจน์ ข้อมูลความรู้ ที่ผ่านจากการปฏิบัติจริงและพิสูจน์ซ้ำในกระบวนการทางปัญญาซึ่งปัจจัยในการสนับสนุนคือ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กายภาพและลักษณะทางสังคมวิทยาของแต่ละชุมชน กระบวนการทบทวนทุกข์ของชุมชนต้องเข้าถึงความจริง นำมาสู่การกำหนดเหตุทุกข์ ยกระดับเป็นโจทย์หรือคำถามการวิจัย ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทั้งคนในชุมชนและหน่วยสนับสนุนจากภายนอกชุมชนที่ทำหน้าที่บริหารงานวิจัย ทำให้เห็นรูปธรรมทั้งผู้นำ กลุ่มองค์กร และแหล่งเรียนรู้ ภายในชุมชน ปัจจัยสำคัญคือพี่เลี้ยงโครงการวิจัยหรือศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น(NODE)ในการเสริมพลังอำนาจของชุมชนด้วยกระบวนการให้คุณค่าชุมชนผ่านการเชื่อมโยงระหว่างทุกข์(ปัญหา) เหตุของปัญหากับบริบท(ความจริง) ของชุมชน คือมรรควิธีของการกำหนดได้หมายรู้ในการสร้างความรู้เชิงกระบวนการรวมทั้งการออกแบบวิธีวิทยาของการตั้งโจทย์วิจัยร่วมกับชุมชนในฐานะผู้วิจัยหลัก หรือเจ้าของปัญหา และนำมาสู่การออกแบบการวิจัย เป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในการออกแบบวิธีวิจัยของชุมชน” ขณะเดียวกันกระบวนการวิจัยมีการนำใช้ความรู้ระหว่างทางที่ค้นพบ ยกระดับเป็น”ปัญญา”คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ปัญหามีองค์ประกบสำคัญคือ ระบบบริหารความรู้ชุมชน(ปัญญา) สังคมการเรียนรู้(สมาธิ) กติกาการอยู่ร่วมกัน (ศีล) ตามหลัก“ไตรสิกขาสาม” ส่วนข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะต่อชุมชนวิจัยทั้งสามชุมชน คือ การเสริมศักยภาพการจัดการความรู้และการใช้ประโยชน์จากความต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้นำหรือนักวิจัยควรมีการร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายและจัดตั้งเป็นสถาบันทางสังคมในรูปแบบองค์กรหรือมูลนิธิในการขับเคลื่อนผลจากการวิจัย ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ได้จากการวิจัยในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สาขาการพัฒนาทรัพยากรชนบท คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้จำเป็นต้องนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตรของสาขาวิชาฯ พร้อมทั้งการออกแบบการเรียนการสอนในการใช้พื้นที่ชุมชนที่ผ่านการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของนักศึกษาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น แม้ปัจจุบันจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ควรนำหลักการบริหารในแนวคิดวิทยาศาสตร์ใหม่มาทบทวนให้สอดคล้องกับการบริหารงานวิจัยที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยการปรับโครงสร้างใหม่และตั้งฝ่ายวิจัยท้องถิ่นเป็นสำนักงานบริหารงานวิจัยนวัตรกรรมชุมชน ในขณะเดียวกัน ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น (NODE) ควรปรับสภาพตัวเองเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแนวคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และปรับจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นงานวิจัยของท้องถิ่นโดยสร้างเงื่อนไขให้มีการขับเคลื่อนผ่านกลไกและภาคีภายในท้องถิ่น
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1037
Appears in Collections:Economics

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Paniti_Bunsa.pdf4.05 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.