Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1107
Title: การศึกษาการผลิตหัวพันธุ์หงส์เหิน
Other Titles: Study on rhizomes production of globba (Globba spp.)
Authors: อรณิช คำยง
Issue Date: 2020
Publisher: Maejo University
Abstract: หงส์เหินเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ปัจจุบันมีการปลูกเป็นการค้าในรูปแบบ ไม้กระถาง ไม้ตัดดอก แต่อย่างไรก็ตามในการผลิตหัวพันธุ์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวเน่า ซึ่งเชื้อสาเหตุสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายฤดูในแปลงปลูกและเชื้อสามารถกระจายสู่พื้นที่อื่นได้โดยการนำหัวพันธุ์ที่ติดเชื้อสาเหตุโรคไปปลูก ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรคโดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในการทดลองที่ 1 ได้ทำการศึกษาผลของน้ำตาลต่อการเจริญเติบโตและการชักนำหัวจิ๋วของหงส์เหินในสภาพปลอดเชื้อ โดยทำการเลี้ยงยอดหงส์เหินในอาหารสูตร MS ที่เติม BA ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร NAA ความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับการเติมน้ำตาลแต่ละความเข้มข้น (0, 30, 40, 50 และ 60 กรัมต่อลิตร) หลังการเลี้ยงยอดเป็นเวลา 70 วัน พบว่า น้ำตาลความเข้มข้น 30 กรัมต่อลิตร มีผลต่อการเจริญเติบโตด้านจำนวนหน่อ ซึ่งเหมาะสำหรับการเจริญของต้น ในขณะที่การให้น้ำตาลความเข้มข้น 40-50 กรัมต่อลิตร มีผลต่อการชักนำให้เกิดหัวจิ๋วในสภาพปลอดเชื้อได้ การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของ NAA ต่อการเจริญเติบโตและการชักนำหัวจิ๋วของหงส์เหินในสภาพปลอดเชื้อ โดยทำการเลี้ยงยอดหงส์เหินในอาหารสูตร MS ดัดแปลงที่เติมน้ำตาล 30 กรัมต่อลิตร BA ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA แต่ละระดับความเข้มข้น (0, 0.25, 0.5, 1.0 และ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร) หลังการเลี้ยงยอดเป็นเวลา 56 วัน พบว่า NAA ความเข้มข้น 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร มีผลต่อทั้งการเพิ่มปริมาณยอดและการชักนำให้เกิดหัวจิ๋วในสภาพปลอดเชื้อได้ และจากการทำปฏิกิริยาไอโอดีนกับแป้ง พบว่า NAA ทุกความเข้มข้นมีการสะสมแป้งที่รากสะสมอาหาร การทดลองที่ 3 ศึกษาผลของ NAA และระดับน้ำตาลต่อการเจริญเติบโตและการเกิดหัวจิ๋วของหงส์เหินในสภาพปลอดเชื้อ โดยการเลี้ยงยอดหงส์เหินในอาหารสูตร MS ดัดแปลงที่เติม BA ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร NAA ความเข้มข้น 0, 1 และ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับน้ำตาลความเข้มข้น 30, 35 และ 40 กรัมต่อลิตร หลังการเลี้ยงยอด 49 วัน พบว่า การเติมน้ำตาล 40 กรัมต่อลิตรร่วมกับ NAA ความเข้มข้น 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร เหมาะสำหรับการชักนำให้เกิดหัวจิ๋วในสภาพปลอดเชื้อได้ และจากการทำปฏิกิริยาไอโอดีนกับแป้ง พบว่า NAA และน้ำตาลทุกความเข้มข้นมีการสะสมแป้งที่รากสะสมอาหาร การทดลองที่ 4 ศึกษาผลของวัสดุปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพหัวพันธุ์หงส์เหินในสภาพโรงเรือน โดยการนำต้นกล้าหงส์เหินที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูกเลี้ยงในวัสดุปลูกแตกต่างกัน คือ ดิน (ชุดควบคุม), ทราย, ขุยมะพร้าว, กาบมะพร้าว, แกลบดิบ, ทราย : ขุยมะพร้าว, ทราย : กาบมะพร้าว, ทราย : แกลบดิบ และขุยมะพร้าว : แกลบดิบ อัตราส่วนผสม 1 : 1 โดยปริมาตร พบว่า การปลูกโดยใช้ทราย:ขุยมะพร้าว และทราย:กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกเหมาะสำหรับการเจริญทางต้นและมีคุณภาพหัวพันธุ์ดีกว่าการใช้วัสดุปลูกชนิดอื่น การทดลองที่ 5 ศึกษาผลของระบบการปลูกพืชแบบแอโรโพนิกส์ต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพหัวพันธุ์หงส์เหินในสภาพโรงเรือนโดยนำต้นกล้าหงส์เหินที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาออกปลูกในพีทมอสเพื่อปรับสภาพและกระตุ้นให้เกิดรากใหม่เป็นระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นย้ายมาปลูกในวัสดุปลูกแบบใช้ดิน (ชุดควบคุม) และปลูกแบบแอโรโพนิกส์ที่มีการพ่นสารละลายครั้งละ 10, 15, 20, 25, 30 และ 35 นาที โดยทำการพ่นทุก ๆ 3 ชั่วโมง 30 นาที พบว่า การพ่นสารละลายครั้งละ 10 นาที ส่งผลต่อการเจริญทางต้นและคุณภาพหัวที่ดี
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1107
Appears in Collections:Economics

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Oranid_Kumyong.pdf5.64 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.