Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1108
Title: การพัฒนาเทคนิคการผลิตกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสลูกผสม
Other Titles: Development of production technique for phalaenopsis hybrid
Authors: Thonglang Phetxomphou
Issue Date: 2020
Publisher: Maejo University
Abstract: การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสลูกผสม โดยศึกษาถึงสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณโปรโตคอร์มและต้นอ่อนที่มีคุณภาพดีในสภาพปลอดเชื้อ และการเจริญเติบโตและคุณภาพดอกในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสลูกผสมในระยะโปรโตคอร์มที่อายุ 3 เดือน ในอาหาร 7 สูตร ในสภาพปลอดเชื้อ ได้แก่ อาหารสูตร MS, อาหารสูตร VW, อาหารสูตร VW ดัดแปลง, อาหารสูตรปุ๋ย Hyponex ที่ระดับ 1, 2, และ 3 กรัม/ลิตร และอาหารสูตรปุ๋ย NPK 20-20-20 ที่ระดับ 1 กรัม/ลิตร เป็นเวลา 4 เดือน พบว่า อาหารสูตร VW ดัดแปลง ให้โปรโตคอร์มขนาดใหญ่ที่สุด เฉลี่ย 0.80 เซนติเมตร และจำนวนหน่อมากที่สุด เฉลี่ย 4.00 หน่อ อาหารสูตร VW ให้จำนวนใบมากที่สุด เฉลี่ย 4.70 ใบ และให้จำนวนต้นอ่อนมากที่สุดเฉลี่ย 2.30 ต้น ในส่วนของอาหารสูตร MS และอาหารสูตรปุ๋ย 20-20-20 ส่งผลให้โปรโตคอร์มตายเมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 3 เดือน การศึกษาการเจริญเติบโตของต้นอ่อนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสลูกผสมที่เลี้ยงในอาหารทั้ง 7 สูตร เป็นเวลา 6 เดือน พบว่า อาหารสูตร MS ส่งผลให้ต้นอ่อนกล้วยไม้มีความสูงมากที่สุด เฉลี่ย 5.17 เซนติเมตร และมีจำนวนใบมากที่สุด เฉลี่ย 5.47 ใบ อาหารสูตร VW ดัดแปลง ให้ต้นอ่อนที่มีความกว้างใบมากที่สุด เฉลี่ย 2.09 เซนติเมตร ส่วนอาหารสูตร MS และอาหารสูตร VW ดัดแปลงให้ต้นอ่อนที่มีความกว้างลำต้นมากที่สุด เฉลี่ย 0.55 และ 0.58 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีความยาวใบมากที่สุด เฉลี่ย 4.30 และ 3.97 เซนติเมตร ดังนั้นการเจริญเติบโตของต้นอ่อนกล้วยไม้ที่เลี้ยงในอาหารสูตร MS และ VW ดัดแปลง ส่งผลให้ต้นอ่อนกล้วยไม้มีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสูตร VW กับอาหารสูตรปุ๋ย Hyponex และอาหารสูตรปุ๋ย 20-20-20 การศึกษาวิธีการให้ปุ๋ย 2 แบบได้แก่ วิธีการให้ปุ๋ยแบบที่ 1 ประกอบด้วยปุ๋ย 20-20-20, 0-0-50, 10-52-17, 0-52-34, 21-0-0 และ 10-20-30 วิธีการให้ปุ๋ยแบบที่ 2 ประกอบด้วยปุ๋ย 20-20-20, 0-0-50, 21-0-0, 10-52-10, 15-15-30 และ 10-30-20 และระยะเวลาที่เลี้ยงในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ที่ 25 องศาเซลเซียส เวลากลางวัน และ 18 องศาเซลเซียส เวลากลางคืน เป็นเวลา 1, 2, 3 และ 4 เดือน ก่อนย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิจนครบ 6 เดือนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพดอก พบว่า วิธีการให้ปุ๋ยแบบที่ 1 ทำให้เวลาในการออกดอกแรกเร็วที่สุด เฉลี่ย 43 วันแต่วิธีการให้ปุ๋ยแบบที่ 2 ให้ความกว้างของลำต้นมากที่สุด เฉลี่ย 2.47 เซนติเมตร เมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนในเดือนที่ 2-6 พบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนระยะเวลาการเลี้ยงที่แตกต่างกันในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ พบว่า การเลี้ยงเป็นเวลา 1 เดือนก่อนย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิ ถึงเดือนที่ 3 และ 4 ทำให้กล้วยไม้มีความกว้างลำต้นมากที่สุด เฉลี่ย 2.58 และ 2.65 เซนติเมตร ตามลำดับ และให้จำนวนใบมากที่สุด เฉลี่ย 8.17 และ 8.26 ใบ ตามลำดับ หลังการย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิถึงเดือนที่ 5 และ 6 นอกจากนี้ ยังทำให้การบานของดอกใช้เวลาเร็วที่สุด เฉลี่ย 27 วัน และให้จำนวนดอกมากที่สุด เฉลี่ย 9.50 ดอก ส่วนการลี้ยงในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิเป็นเวลา 1 และ 2 เดือนก่อนย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิ ทำให้ใช้เวลาในการออกดอกแรกของกล้วยไม้เร็วที่สุด เฉลี่ย 37 และ 40 วัน ตามลำดับหลังวันแทงช่อดอก ส่วนการเลี้ยงในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิเป็นเวลา 2 และ 3 เดือนก่อนย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิ ทำให้ใช้เวลาในการแทงช่อดอกเร็วที่สุด เฉลี่ย 46 และ 48 วัน ตามลำดับ และการเลี้ยงในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ เป็นเวลา 4 เดือนก่อนย้ายมาเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอุณหภูมิ ทำให้ช่อดอกยาวที่สุด เฉลี่ย 36.65 เซนติเมตร
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1108
Appears in Collections:Economics

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Thonglang_Phetxomphou.pdf3.53 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.