Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1191
Title: องค์ประกอบชนิดไม้ต้น และผลผลิตกาแฟของระบบวนเกษตรกาแฟ ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
Other Titles: Species composition of tree and coffee product of coffee - agroforestry system in the royal - initiated Khun Mae Kuang forest area development project Chiangmai province
Authors: ประครอง เชียงแรง
Issue Date: 2021
Publisher: Maejo University
Abstract: การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบวนเกษตรในพื้นที่สูงมีความจำเป็นสำหรับการจัดการพื้นที่ต้นน้ำให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกรูปแบบวนเกษตรกาแฟและเปรียบเทียบลักษณะของสังคมพืช รวมถึงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของลักษณะสังคมพืชกับลักษณะของต้นกาแฟอาราบิก้า (Coffea arabica) และประเมินปัจจัยด้านสังคมพืชที่มีผลต่อผลผลิตกาแฟ ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการวางแปลงตัวอย่างขนาด 20 เมตร x 20 เมตร จำนวน 15 แปลง ให้ครอบคลุมพื้นที่วนเกษตรกาแฟและป่าดิบเขาระดับต่ำธรรมชาติ พร้อมกับเก็บข้อมูลด้านองค์ประกอบชนิดพืชเพื่อวิเคราะห์จำแนกลักษณะโครงสร้างสังคมพืช และเก็บข้อมูลผลผลิตเมล็ดกาแฟสดภายในแปลงตัวอย่างพร้อมกับประเมินมูลค่า แล้วทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะสังคมพืชกับลักษณะของต้นกาแฟและผลผลิตของกาแฟ ผลการศึกษา พบว่า สังคมพืชในพื้นที่ศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สังคม ได้แก่ สังคมป่าดิบเขาระดับต่ำธรรมชาติ และสังคมวนเกษตรกาแฟ 2 สังคมย่อย ได้แก่ สังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่า และสังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ผล สำรวจพบชนิดไม้ต้นทั้งหมด 63 ชนิด 53 สกุล 35 วงศ์ จากไม้ทั้งหมด 252 ต้น โดยสังคมป่าดิบเขาระดับต่ำธรรมชาติ พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 45 ชนิด 41 สกุล 37 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 3.45 พบชนิดที่มีความสำคัญ เช่น หำอาว (Cananga latifolia) เงาะหนู (Nauclea subdita) โมง (Canarium strictum) ก่อดำ (Quercus kerrii) และจำปีป่า (Magnolia baillonii) เป็นต้น สังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่า พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 44 ชนิด 40 สกุล 28 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 3.49 พบชนิดที่มีความสำคัญ เช่น ยมหอม (Toona ciliata) ทะโล้ (Schima wallichii) สะท้อนรอก (Elaeocarpus tectorius) กล้วยฤาษี (Diospyros glandulosa) และ พะบ้าง (Mischocarpus pentapetalus) เป็นต้น ส่วนสังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ผล พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 39 ชนิด 36 สกุล 26 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 2.79 พบชนิดที่มีสำคัญ เช่น กร่าง (Ficus altissima) พลับ (Diospyros kaki) ชาเมี่ยง (Camellia sinensis) แคหัวหมู (Markhamia stipulata) และกล้วยฤาษี (Diospyros glandulosa) เป็นต้น ดังนั้นสังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่าจึงมีลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบพรรณพืชใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติมากกว่าสังคมวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ผล พบว่าจำนวนต้นกาแฟมีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับขนาดพื้นที่หน้าตัดของไม้ใหญ่ (p < 0.05) และมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับจำนวนต้นไม้ใหญ่ (p<0.01) ส่วนขนาดความโตของคอรากของต้นกาแฟ พบว่า มีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับจำนวนต้นของไม้ใหญ่ในพื้นที่ (p<0.05) ส่วนผลผลิตของกาแฟพบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับความหนาแน่นและขนาดพื้นที่หน้าตัดของไม้ใหญ่ (p<0.05) แต่มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับค่าดัชนีความหลากหลายของไม้ต้น (p<0.01) แสดงว่าต้นกาแฟเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดเล็กปกคลุมอยู่จำนวนมาก และจะให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่น้อยแต่มีความหลากหลายสูง จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการทำระบบวนเกษตรกาแฟในพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควรพิจารณาใช้ระบบวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่าเพราะจะทำให้มีลักษณะสังคมใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมขององค์ประกอบของชนิดไม้ต้นในพื้นที่เพื่อเป็นการเพิ่มการเติบโตและผลิตของต้นกาแฟ
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1191
Appears in Collections:Engineering and Agro - Industry

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Prakrong_Chiangrang.pdf2.4 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.