Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1123
Title: แนวทางการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
Other Titles: uidelines for the establishment of a rubber's farmers group of thambon Khao Kaeo Chiangkhan district loei province
Authors: องค์กรณ์ รจนา
Issue Date: 2020
Publisher: Maejo University
Abstract: กองทุนพัฒนายางพาราถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรที่มีอาชีพ หรือมีความสนใจในการทำสวนยางพารา เพื่อให้เกษตรกรได้มีที่พึ่ง และได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง แต่ทว่าในการเข้าถึงกองทุนดังกล่าว จะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท) อีกทั้งในการรับประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารายังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ เช่น อายุของแปลงปลูก แปลงปลูกขั้นต่ำ รวมไปถึงสิทธิในการครอบครองที่ดิน ซึ่งต้องอยู่ในรูปแบบที่กองทุนฯ ให้การรับรอง แต่โดยเงื่อนไขตาม พระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 (พรบ. กยท. 2558) ก็ยังได้ระบุทางเลือกในการเข้าถึงกองทุนฯ ในลักษณะของนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ ซึ่งในลักษณะของนิติบุคคลนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เกษตรกรที่ขาดคุณสมบัติบางประการได้มีโอกาสเข้าถึงกองทุนฯ ในการทดลองศึกษาแนวทางการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จึงเป็นการทดลองเพื่อศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกลุ่มนิติบุคคลที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรในชุมชนเอง โดยให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยงในการดูแล โดยในการศึกษาได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การศึกษาบริบทของชุมชนเป้าหมาย การทดลองจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา และการศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จะใช้เครื่องมือในการศึกษาประกอบด้วย การสำรวจ การรวบรวมข้อมูลแบบสอบถาม การสัมภาษณ์แบบกลุ่มหรือตัวต่อตัว จากนั้นทดลองจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้นมา จากการศึกษาพบว่า ในตำบลเขาแก้วมีเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวนทั้งสิ้น 322 ราย มีอัตราส่วนเท่ากับ 1.88 เปอร์เซ็นต์ ของเกษตรกรสวนยางพาราในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ในปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มชาวสวนยาง สกย. ขึ้น 1 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มชาวสวนยาง สกย. บ้านท่าบม-เขาแก้วพัฒนายาง มีสมาชิกทั้งสิ้น 60 ราย ซึ่งกลุ่มเกษตรกรนี้ยังไม่ได้มีการจัดตั้งให้เป็นนิติบุคคล โดยเมื่อทำการทดลองจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร มีอาสาสมัครจากกลุ่มดังกล่าว 46 ราย ที่สมัครใจเข้าร่วมในการทดลอง โดยเมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติที่จำเป็นในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรตาม พรก สหกรณ์ 2542 แล้ว พบว่า ในกลุ่มอาสาสมัครมีอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติไม่ครบอยู่ 6 ราย เนื่องจาก เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันกับอาสาสมัครรายอื่นจึงทำให้เหลือสมาชิกเพียง 40 ราย จากทั้งหมด ในกลุ่มเกษตรกรทั้ง 40 รายนี้ ครอบครองพื้นที่ในการปลูกยางพาราทั้งสิ้น 708 ไร่ แบ่งออกเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง 206 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครอง 503 ไร่ ( 29.06 และ 70.94 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย 19 แปลง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครอง 44 แปลง (30.16 และ 69.84 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) ในด้านของการเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่ามียางพารา ที่เปิดกรีดแล้ว 556 ไร่ ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 153 ไร่ (78.42 และ 21.58 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) อาสาสมัครในกลุ่มนี้มีการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 10 ราย และไม่ได้ขึ้นทะเบียนใดๆ เลย 30 ราย (25.00 และ 75.00 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) ในส่วนของการทดลองจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางตำบลเขาแก้ว อาสาสมัครขาดความสามารถด้านการจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน โดยต้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในการจัดเตรียมเอกสาร อีกทั้งในการอบรม พูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่ของการเข้าร่วมกลุ่มนิติบุคคลเพื่อเข้าถึงสิทธิตาม พรบ. กยท. 2558 อาสาสมัครจะมีความกังวลใจในเรื่องของที่ดินที่มีการครอบครองอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากรัฐในการทำกินแต่มิให้กรรมสิทธิ์ในทีดิน ทำให้อาสาสมัครให้ความร่วมมือในระดับที่ไม่สูงมากนัก จนกระทั่งมีการพูดคุยถึงข้อกฎหมาย และ ผลดี ผลเสียจากการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม จึงทำให้อาสาสมัครลดความกังวลใจลง และเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งอย่างจริงจัง ทั้งนี้ในส่วนของความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายนี้เองทำให้อาสาสมัครเลือกที่จะจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยไม่มีการจดทะเบียน ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งกลุ่มฯ ที่สำคัญอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้ง การบริหารงานกลุ่มเกษตรกร กฏระเบียบ วิธีการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ 2) ขาดองค์ความรู้ พรบ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 รวมทั้งกระบวนการในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร 3) ขาดความรู้ความชำนาญในข้อกฏหมายเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน สิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรในเขตพื้นทีนั้นๆ จากประเด็นดังกล่าวทำให้ตระหนักถึงปฏิสัมพันธ์การรวมกลุ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายและแก้ไขปัญหาของเกตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งมีองค์ความรู้ทางด้านการประกอบอาชีพ ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความกังวลอย่างมากในกรณีการครอบครองที่ดินซึ่งผิดกฎหมาย อาจจะส่งผลให้หน่วยงานของภาครัฐยึดที่ดินกลับคืนในอนาคต จึงได้จัดการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายใต้ พรบ.สหกรณ์ ทั้งนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือครองสิทธิ์ในที่ทำกินเนื่องจาก พรบ.สหกรณ์เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันมารวมกลุ่มกันโดยมีผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นที่ตั้ง 4) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเพื่อการเข้าถึงสิทธิของกองทุนพัฒนายางพาราตาม พรบ. กยท. 2558 เนื่องจากในการลงพื้นที่ศึกษาพบว่าเกษตรกรบางรายปลูกสร้างสวนยางบนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ไม่ได้แจ้งข้อมูลต่อหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะของ กยท. ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงได้กำหนดให้จัดตั้งกลุ่มตามพรบ. ของ กยท. ซึ่งต้องการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งผ่านกองทุนพัฒนายางพาราตาม พรบ. กยท. 2558 ซึ่งได้อธิบายและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนจนเข้าใจก่อนที่จะชี้แจงและสำรวจเกษตรกรชาวสวนยางในบางส่วนที่ไม่ได้แสดงหรือยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมกลุ่ม ให้หันมาร่วมมือและตระหนักการปฏิบัติงานภาครัฐร่วมกับเกษตรกร เพื่อชุมชนที่มีความเข้มแข็งและความมั่นคงของชาติ
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1123
Appears in Collections:Liberal Arts

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Ongkorn_Ratchana.pdf18.17 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.